แนวคิดของมูลนิธิกระจกเงา

  • -
Mirror-Foundation

แนวคิดของมูลนิธิกระจกเงา

Category : News

มูลนิธิกระจกเงา เป็น องค์กรที่หลายๆคนต่างคุ้นชื่อกันดี เวลาคิดถึงเรื่องเด็กสูญหาย พลัดพรากจากผู้ปกครอง จะต้องคิดถึงชื่อ มูลนิธิกระจกเงา ก่อนเสมอ แต่ความจริงแล้วมูลนิธิกระจกเงาเป็นมูลนิธิพัฒนาเอกชนซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมในหลายๆ ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน , งานด้านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ , รับสมัครอาสาสมัคร , การแบ่งปันทรัพยากร เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ มีพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งในโลกออนไลน์ internet สังคมเมืองและสังคมชนบท เรียกได้ว่าให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นกระจกเงาคอยสะท้อนเรื่องราว ความเป็นจริงของสังคม , ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผ่านวิธีคิด คือ การสร้างคนและสร้างนวัตกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่แก่สังคม ซึ่งมีแนวคิด คือ

  • สร้างคน คือ การสร้างนักกิจกรรม ผ่านการรับอาสาสมัคร เพื่อให้เข้ามามีบทบาทกับกิจกรรมทางสังคม เพราะปัญหาสังคมในปัจจุบันส่วนใหญ่ เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนรวมทั้งมีปริมาณมาก จนเกินกว่าที่คนเล็กๆ เพียงไม่กี่คนจะสามารถแบกรับไว้ได้ ซึ่งปัญหาสังคมไม่มีทางหมดไปอย่างแน่นอน ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ร่วมกันรับรู้ตลอดจนพร้อมแก้ไข ด้วยเหตุนี้การสร้างคนจึงเป็นปัจจัยแรกของการแก้ปัญหาในสังคม
  • สร้างนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การปูทางใหม่ให้แก่สังคม ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา พร้อมออกแบบกระบวนการแก้ปัญหาสังคม จากการมีส่วนร่วมอันสอดคล้อง ไปกับปรากฏการณ์ทางสังคม ณ ปัจจุบัน
  • สร้างการเปลี่ยนแปลง เมื่อผ่านกระบวนการสร้างนักกิจกรรม และนวัตกรรมทางสังคมแล้ว ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เป็นเป้าหมายอันแท้จริงของการทำงาน โดยนักกิจกรรมที่ได้รับการปรับเปลี่ยนความคิดในการมุ่งมั่นแก้ปัญหาทางสังคมร่วมกัน ก็จะกลายเป็นฟันเฟืองที่ผสานพลังขับเคลื่อนสังคม จากนวัตกรรมที่หมุนวงล้อของสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป เพราะฉะนั้นมูลนิธิกระจกเงาจึงให้ความสำคัญกับการรณรงค์รวมทั้งลงมือจัดการปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ

ปัจจุบันมูลนิธิกระจกเงามีพื้นที่ในการปฏิบัติงาน คือ มูลนิธิกระจกเงาสำนักงานเชียงรายกับสำนักงานกรุงเทพ โดยกว่าจะเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ก็เริ่มมาจาก การก่อตั้งในปี พ.ศ. 2534 ที่เริ่มต้นจาก คนหนุ่มคนสาวกลุ่มหนึ่งเพียงจำนวน 5 คนเท่านั้น ในปลายปี พ.ศ. 2534 ก็มีการประกอบกิจกรรมทั้งในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางการเมืองหลังช่วงการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ โดยในตอนนั้นใช้ชื่อกลุ่มเดิม คือ “กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา” จนได้ขอเข้าไปอยู่เป็นโครงการภายใต้มูลนิธิโกมลคีมทองในปี พ.ศ. 2535 ได้ฝ่าฟันอุปสรรคเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน